เสียงดนตรีมีอิทธิพลอย่างมากต่อมวลมนุษย์

-20130624-155632
เสียง มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สมอง ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของสังคม วิถีชีวิต จากทฤษฎีของเสียงที่พิสูจน์ได้ว่าเสียงมีอำนาจ มีอำนาจอยู่ที่ไหนก็จะมีเสียงอยู่ที่นั่น มีเสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้นพิธีกรรมของมนุษย์ทุกๆพิธีกรรมจึงประกอบด้วยเสียงดนตรี ตั้งแต่เสียงสวดมนต์ภาวนาเสียงตีเกราะเคาะไม้ เสียงดีดสีตีเป่า แม้แต่เสียงจุดประทัดในเทศกาลตรุษจีน หรือจุดประทัดของชาวเรือประมงที่จะออกทะเลเพื่อหาปลา เสียงปืนใหญ่ยิงเพื่อยกย่องในงานศพของวีรบุรุษ เสียงกลองยาว แตรวงงานบวช ซึ่งล้วนเป็นเสียงแสดงถึงอำนาจและเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรมทั้งสิ้น

ดนตรี เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นเสียงที่ละเอียดสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจด้วยการประดิษฐ์เสียงอย่างประณีตและบรรจง มนุษย์สร้างเสียงขึ้นเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันฟัง มนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความไพเราะโดยอาศัยความรู้สึกที่ดีเอาเสียงที่ไพเราะงดงาม นำแต่ละเสียงมาเรียงร้อยให้ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งดนตรีอาจจะรับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม หรือดนตรีอยู่ในฐานะของความบันเทิง

ดนตรีมีความผูกพันกับชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แรกเกิดทารกจะได้ยินเสียงเห่กล่อมจากมารดา หรือฟังเสียงเพลงเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาดนตรีก็ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้เจริญงอกงามครบทุกด้าน ได้แก่ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญา เมื่อชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ดนตรีก็จะถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ความตึงเครียดจากการทำงาน ในรูปแบบต่างๆกันออกไป จนสุดท้ายของชีวิตก็ยังมีดนตรีเพื่อใช้สำหรับงานศพ จะเห็นได้ว่าดนตรีนั้นมีความผูกพันต่อมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

อิทธิพลของเสียงดนตรี    

– ทำนองเพลง (Melody) ทำให้เกิดสัมพันธภาพ ความเป็นมิตร ความเป็นพวกเดียวกัน ลดความวิตกกังวล ทำให้จิตใจรู้สึกสงบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายหรือตึงเครียด และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ
– ลีลาจังหวะ (Rhythm) ลีลาจังหวะของดนตรีทุกชนิดมีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก ไม่ว่าจะเป็นลีลาจังหวะของทำนองเพลง ลีลาจังหวะของเสียงประกอบทำนอง
– ความดังหรือความเข้มของเสียง (Volume or Intensity) ความดัง หรือความเข้มของเสียง สามารถทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียง แสดงอาการโต้ตอบกลับได้หลายลักษณะ
– ความเร็วจังหวะ (Tempo) จังหวะที่เร็วจะเร้าความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังตื่นเต้น ไม่สงบ จังหวะที่ช้ามีผลทำให้สงบ
– เสียงประสาน (Harmony) คุณภาพของเสียงที่เกิดจากการประสานกันของเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงของเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องของมนุษย์ เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ