การฟังเพลงทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น

ถ้าพูดถึงเสียงเพลงกับการออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการเต้นแอโรบิค เพราะเป็นกิจกรรมประกอบเพลงที่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่หลายครั้งที่เหลือบไปเห็นผู้รักสุขภาพหลายคนวิ่งบนลู่ไฟฟ้าแล้วมีหูฟัง ติดหูอยู่ด้วยซึ่งการฟังเพลงในการออกกำลังกาย

นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ และการฟังเพลงไม่ได้มีผลต่ออารมณ์คนฟังเท่านั้น แต่กลับส่งผลดีต่อร่างกายมากมายเช่นกัน

“เพลงแจ็ซ” (jazz) ช่วย เพิ่มอัตราการหายใจให้ถี่ขึ้นได้ และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อถึงช่วงใกล้จบเพลง ขณะที่อัตราการเต้นของหัวใจ ร่างกายจะตอบสนองตามจังหวะของเสียงเพลง คือ เมื่อฟังเพลงที่มีจังหวะเร็ว หัวใจก็จะเต้นเร็วหรือทำงานหนักขึ้น ส่วนเพลงจังหวะช้า หัวใจก็จะเต้นช้าตามไปด้วย
ชนิดของเพลงก็มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ เช่น เพลงกระตุ้น (Stimulative music) คือ ร็อค, แร็พ, ฮิพฮอพ และเพลงแดนซ์ เพลงเหล่านี้จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นเพลงผ่อนคลาย (Sedative music) อย่าง เพลงแจ๊ซหรือเพลงคลาสสิค รวมทั้งเพลงบรรเลง สามารถช่วยลดการทำงานของหัวใจได้ ถ้าสามารถนำประเภทและประโยชน์ของเพลงไปปรับใช้กับการออกกำลังกายของผู้รัก สุขภาพได้อย่างเหมาะสมคงจะดีไม่น้อย

ประโยชน์ ของเพลงในการออกกำลังกายยังมีผลต่อความอดทนของร่างกายด้วยเช่นกัน นักวิจัยหลายคนได้ศึกษาผลของเพลง พบว่าเพลงช่วยเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อในการลุก-นั่ง (Sit-up) และการดันพื้น (Push up) สำหรับ การเดินฟังเพลงนั้น เพลงจะช่วยให้การเดินมีอัตราที่เร็วขึ้น รวมทั้งเพลงยังช่วยเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกาย โดยการเดินหรือการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า ซึ่งการฟังเพลงจังหวะช้าๆ เสียงเบาๆ จะทำให้เราออกกำลังกายได้นานกว่าการฟังเพลงจังหวะเร็วและเสียงดัง

การฟังเพลงคัดสรรหรือเพลงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น เมื่อเทียบกับการฟังเพลงที่ชอบและการไม่ฟังเพลงขณะออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยเพลงคัดสรร สามารถเพิ่มระยะเวลาในการปั่นจักรยานให้นานขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ออกกำลังกายการฟังเพลงไม่สามารถเพิ่มระยะเวลาในการปั่นจักรยาน ให้นานขึ้นได้

การฟังเพลงเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ที่ไม่ใช่แค่ครื้นเครงอย่างที่คิด


การฟังเพลง มีประโยชน์เพื่อผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดสมาธิ เราจึงควรหาโอกาสฟังเพลง โดยเลือกเวลาที่ว่างหรือเวลาที่ไม่รีบเร่ง หรือไม่ต้องใช้ความคิด เช่น เวลารับประทานอาหาร ระหว่างการเดินทาง ขณะพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือขณะทำงานบ้าน เป็นต้น หากจะใช้ในที่ทำงาน ควรเลือกเวลา สถานที่และโอกาสที่เหมาะสม เพื่อไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น และควรมีเทปเพลงที่ชื่นชอบหรือโปรดปราน ติดไว้เพื่อหยิบใช้ได้สะดวกทุกเวลาที่ต้องการ

เราสามารถเริ่มต้นการฟังเพลงได้ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า เราอาจจะมีวิทยุสักเครื่อง หยิบวิทยุเข้าไปฟังเพลงในห้องน้ำ เปิดเพลงเพราะๆ เสียงใสๆ ทำให้เรามีชีวิตชีวาแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า ขณะเราออกเดินทางไปทำงานควรฟังเพลงช้าที่มีเสียงร้องที่กังวานแจ่มใส ขณะที่ทำงาน ควรฟังเพลงบรรเลง ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศทำงานสดชื่นขึ้น

ขณะออกกำลังกายควรเลือกเพลงที่มีจังหวะเร็ว จะช่วยทำให้อยากจะออกกำลังกายมากยิ่งขึ้นและออกกำลังได้เป็นเวลานาน การออกกำลังกายที่ดีควรมีการวอร์มร่างกายก่อน โดยออกกำลังกายเบาๆ โดยใช้เพลงจังหวะปานกลาง แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นจังหวะเร็วมากขึ้น และกลับมาเป็นจังหวะปานกลางอีกครั้ง การออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพ คือ จะต้องมีอัตราชีพจรประมาณ 70% ของอัตราชีพจรสูงสุดของคนคนนั้น (220 ลบด้วยอายุ) จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ลดไขมันส่วนเกิน และยังช่วยให้อารมณ์สดชื่นแจ่มใสขึ้นอีกด้วย ถ้าหากมีเหนื่อย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกมาเพื่อทำให้เกิดความสุข ในเวลาแบบนี้ เพลงช่วยทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ทำให้เกิดความสำเร็จในการออกกำลังกาย

การฟังเพลงให้มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. คุณภาพของเพลงที่ฟัง ตลอดจนเครื่องเล่นเสียงที่ถ่ายทอดเพลงออกมา
2. สถานที่ที่เหมาะสมในการฟังเพลง ซึ่งจะช่วยให้ฟังเพลงได้ไพเราะขึ้น สร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับผู้ฟัง
3. โอกาสควรเป็นช่วงที่ว่าง เป็นเวลาที่ผู้ฟังมีความพร้อมที่จะฟังเพลงและมีอารมณ์มากที่สุด
4. ระยะเวลาการฟังเพลงที่เหมาะสม ถ้าฟังเพลงนานมากเกินไป จะทำให้เกิดความเบื่อ เหนื่อย และเมื่อยล้าได้ เพราะประสาทการรับฟังจะทำงานมากไป
5. ระดับการรับรู้และอารมณ์ของผู้ฟัง ประเภทของเพลงที่ฟังควรเป็นเพลงที่ไพเราะและมีความสร้างสรรค์ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ดี หลีกเลี่ยงเพลงทำนองเศร้า หดหู่ หรือก่อให้เกิดความตึงเครียด สับสน รำคาญ ตื่นเต้นตกใจ เหนื่อย ดังนั้นเพลงที่มีจังหวะช้าและจังหวะปานกลาง จะได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสามารถฟังได้หลายโอกาส