เสียงดนตรีมีอิทธิพลอย่างมากต่อมวลมนุษย์

-20130624-155632
เสียง มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สมอง ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของสังคม วิถีชีวิต จากทฤษฎีของเสียงที่พิสูจน์ได้ว่าเสียงมีอำนาจ มีอำนาจอยู่ที่ไหนก็จะมีเสียงอยู่ที่นั่น มีเสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้นพิธีกรรมของมนุษย์ทุกๆพิธีกรรมจึงประกอบด้วยเสียงดนตรี ตั้งแต่เสียงสวดมนต์ภาวนาเสียงตีเกราะเคาะไม้ เสียงดีดสีตีเป่า แม้แต่เสียงจุดประทัดในเทศกาลตรุษจีน หรือจุดประทัดของชาวเรือประมงที่จะออกทะเลเพื่อหาปลา เสียงปืนใหญ่ยิงเพื่อยกย่องในงานศพของวีรบุรุษ เสียงกลองยาว แตรวงงานบวช ซึ่งล้วนเป็นเสียงแสดงถึงอำนาจและเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรมทั้งสิ้น

ดนตรี เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นเสียงที่ละเอียดสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจด้วยการประดิษฐ์เสียงอย่างประณีตและบรรจง มนุษย์สร้างเสียงขึ้นเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันฟัง มนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความไพเราะโดยอาศัยความรู้สึกที่ดีเอาเสียงที่ไพเราะงดงาม นำแต่ละเสียงมาเรียงร้อยให้ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งดนตรีอาจจะรับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม หรือดนตรีอยู่ในฐานะของความบันเทิง

ดนตรีมีความผูกพันกับชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แรกเกิดทารกจะได้ยินเสียงเห่กล่อมจากมารดา หรือฟังเสียงเพลงเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาดนตรีก็ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนามนุษย์ให้เจริญงอกงามครบทุกด้าน ได้แก่ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญา เมื่อชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ดนตรีก็จะถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ความตึงเครียดจากการทำงาน ในรูปแบบต่างๆกันออกไป จนสุดท้ายของชีวิตก็ยังมีดนตรีเพื่อใช้สำหรับงานศพ จะเห็นได้ว่าดนตรีนั้นมีความผูกพันต่อมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

อิทธิพลของเสียงดนตรี    

– ทำนองเพลง (Melody) ทำให้เกิดสัมพันธภาพ ความเป็นมิตร ความเป็นพวกเดียวกัน ลดความวิตกกังวล ทำให้จิตใจรู้สึกสงบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายหรือตึงเครียด และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ
– ลีลาจังหวะ (Rhythm) ลีลาจังหวะของดนตรีทุกชนิดมีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก ไม่ว่าจะเป็นลีลาจังหวะของทำนองเพลง ลีลาจังหวะของเสียงประกอบทำนอง
– ความดังหรือความเข้มของเสียง (Volume or Intensity) ความดัง หรือความเข้มของเสียง สามารถทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียง แสดงอาการโต้ตอบกลับได้หลายลักษณะ
– ความเร็วจังหวะ (Tempo) จังหวะที่เร็วจะเร้าความรู้สึก ทำให้ผู้ฟังตื่นเต้น ไม่สงบ จังหวะที่ช้ามีผลทำให้สงบ
– เสียงประสาน (Harmony) คุณภาพของเสียงที่เกิดจากการประสานกันของเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงของเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องของมนุษย์ เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ

ข้อดีของการเปิดเพลงคลาสสิคที่ให้ลูกฟังขณะตั้งครรภ์

ดนตรีมีความผูกพันกับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อแม่ร้องเพลงกล่อมลูกน้อย ครั้นเติบโตขึ้นกิจกรรมต่างๆ เช่นการทำงาน การกีฬา พิธีกรรม ล้วนมีความ สัมพันธ์กับดนตรีทั้งสิ้น กระทั่งสุดท้ายแห่งชีวิต ดนตรีก็ยังเข้ามามีบทบาท ดังนั้นดนตรีกับชีวิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นและเอื้อประโยชน์ต่อกัน

คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ควรให้ฟังเพลงเบาๆ จำพวกเพลงบรรเลงเพื่อสร้างความผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดี และยังช่วยให้ทารกในครรภ์พัฒนาการด้านการได้ยินและตอบสนองกับเสียงรอบตัวได้  จริงๆ แล้วระบบประสาทการรับฟังของทารกในครรภ์จะเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์เป็นต้นไป เสียงทุกอย่างที่คุณแม่ได้ยินจะถูกนำไปใช้เป็นเสียงกระตุ้นในการสร้างใยประสาทเกี่ยวกับการได้ยินของลูกน้อยในครรภ์

เสียงที่ดีที่สุดที่ได้รับการยอมรับคือเสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงที่มีความไพเราะและเป็นที่ชื่นชอบของคุณแม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิกหรือเพลงบรรเลงเสมอไปเพราะเด็กยังไม่สามารถแยกอะไรออก ขอให้เป็นเพลงที่คุณแม่ฟังแล้วอารมณ์ดีก็พอแล้ว คุณแม่อาจจะเปิดเพลงเบา ๆ ไม่ต้องให้ใกล้กับครรภ์มากนัก เมื่อทารกในครรภ์ได้ฟังเพลง คลื่นเสียงของเพลงจะไปกระตุ้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน เมื่อเด็กคลอดออกมา ทำให้มีพัฒนาการทางความคิด การจัดเรียงลำดับทางความคิด และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี กว่าเด็กที่ไม่ไดผ่านการกระตุ้นจากเสียงดนตรี

นอกจากเสียงเพลงแล้วการพูดคุยกับเขาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็ช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมอง การพูดคุยกับเขาควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล อย่าพูดคุยถึงเรื่องทุกข์ใจ เพราะเขาสามารถรับรู้สิ่งที่คุณแม่รู้สึกได้และอาจจะทำให้เขาเครียดตั้งแต่อยู่ในท้อง และเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว การเปิดเพลงเบาๆ แต่หลากหลายมากขึ้นก็ยังคงมีประโยชน์ (ยกเว้นเพลงร็อคและเพลงแรพ) เสียงเพลงนั้นสามารถทำให้เด็กอารมณ์ดีและรู้สึกผ่อนคลาย การร้องเพลงให้ลูกฟังก็สำคัญเพราะเด็กโดยส่วนมากจะชอบฟังเสียงคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องสนใจว่าจะร้องผิดคีย์หรือไม่ แค่ให้เขารู้สึกสนุก ปรบมือหรือโยกย้ายอวัยวะตามไปพร้อมกับเราก็พอแล้ว

การปลูกฝังให้ลูกน้อยรักในเสียงเพลงและเสียงดนตรีนั้นสามารถช่วยในเรื่องของอารมณ์และจิตใจของลูกน้อยได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการผลักดันให้เขาชอบทางดนตรีหรือสร้างความอัจฉริยะทางดนตรีให้แก่เขา เราเพียงใช้เสียงเพลงเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เขาอารมณ์ดีและพร้อมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตามวัยเท่านั้น

วิธีดนตรีบำบัดเพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยละความเครียดและเป็นการชะลอความแก่

3

ความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพของเราลดลง ทำให้เราแก่ตัวเร็วขึ้น วันนี้จะเสนอวิธีดนตรีบำบัด เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยละความเครียด และเป็นการชะลอความแก่ และ ดูแลสุขภาพด้วยตนเองง่ายๆ ฟัง เสียงดนตรีคึกคักใจเราก็อยากเต้นตาม แต่พอเป็นจังหวะสบายๆ เราก็เริ่มรู้สึกผ่อนคลาย อย่างกับว่าจังหวะและเสียงนั้นสั่งใจเราได้ก็ไม่ผิดนักด้วย เหตุนี้เอง คนยุคใหม่เลยนำความมหัศจรรย์ของดนตรีมาใช้กับการบำบัดความเครียด นอกเหนือจากการฟังเพลงทั่วๆ ไปแล้วรู้สึกดี ซึ่งจะว่าไปแล้ว ดนตรีไม่ได้เกิดจากจินตนาการในการจับโน่นผสมนี่ของตัวโน้ตอย่างที่เราคิด แต่เป็นการเรียบเรียงที่เป็นแบบแผน และมีโครงสร้างที่สามารถอธิบายในแนวทางวิทยาศาสตร์ได้ ดนตรีจึงสามารถสร้างขึ้นเพื่อนำมาบำบัดมความรู้สึก และอารมณ์เราได้อย่างน่าเชื่อถือ

ดนตรี เป็นสื่อภาษาสากลที่ไม่ว่าคนชาติไหนๆ ก็เข้าใจเนื้อดนตรีเดียวกัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ดนตรีจึงสามารถใช้สื่อสารได้กับคนทั้งโลก รวมทั้งการนำมารักษาโรคได้กับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนที่ผิดปกติทางอารมณ์ตั้งแต่อดีตมาแล้วที่เรารู้จักดนตรี และยังพบว่ามันมีพลังมหาศาลนารรักษาโรค อย่างคนธิเบตก็ใช้วิธีการเคาะระฆัง เคาะชาม และใช้เสียงสวดมนต์ในพิธีกรรม ที่เชื่อด้วยว่าจะช่วยปรับสมดุลใจของเรา คนไทยเราเองก็ใช้การสวดมนต์ ที่นอกเหนือจากเรื่องศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นคลื่นเสียงที่ช่วยสงบจิตใจเราให้นิ่งขึ้น นี่ล่ะที่เป็นเหตุผลที่ว่า เวลาเราซึมเซา อยากกระฉับเฉง แค่เปิดดนตรีฟังสนุกเราก็ตื่นตัวขึ้นมาได้ง่ายๆ แล้ว ดนตรีจึงมีพลังกับเราไม่น้อยเลย และยังสามารถนำมาจัดการกับความเครียดได้ด้วย เพราะหากเราได้ฟังดนตรีจังหวะผ่อนคลาย การทำงานของสมองเราจะตอบสนองตาม และร่างกายของเราจะเปลี่ยนไป เช่น หายใจเรียบขึ้น หัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือกปกติ ม่านตาหดลง กล้ามเนื้อก็ไม่ตึงเกร็ง ผลดีเหล่านี้ทำให้เราศึกษาการใช้ดนตรีมาบำบัดความเครียดกันมากขึ้นเรื่อยๆ และยังรักษาร่างกายที่เจ็บป่วยได้อีกด้วย

พลังของดนตรีคลาสสิกที่ส่งผลต่อพัฒนาของเด็ก

ดนตรีเปรียบเสมือนขนมหวานและเป็นดั่งอาหารสมองที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็ก เพราะดนตรีเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชอบ เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับดนตรี สมองทั้งสองซีกก็จะทำงานอย่างสมดุล

เชื่อไหมว่า เมื่อแรกเกิดลูกฟังดนตรีรู้เรื่องแล้ว จากการวิจัยพบว่าทารกในครรภ์ช่วงอายุ 7-8 เดือน สามารถรับรู้เสียงดนตรีและได้ยินเสียงที่คุณแม่พูดหรือร้องเพลง ดนตรีช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองมากกว่า 10 ส่วนทั่วไปหมด ทั้งสมองส่วนบน ส่วนล่าง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ให้สมองกระตุ้นจินตนาการและความคิดอย่างมีเหตุผล การคิดคำนวณ วิทยาศาสตร์และภาษา โดยเฉพาะดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ ฟังสบายๆ มีจังหวะท่วงทำนองและความกลมกลืนของเสียงที่เหมาะสมจะทำให้สมองของลูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะลูกน้อยที่อยู่ในวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ เกิดการเรียนรู้ ช่วยพัฒนาทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้มีความสามารถที่จะจดจำสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่สอนได้ดียิ่งขึ้น

พลังของดนตรีคลาสสิก ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กส่วนใหญ่จะแนะนำให้พ่อแม่เปิดเพลงช้าๆ มีช่วงทำนองสม่ำเสมอ เช่น เพลงคลาสสิกให้ลูกฟัง เพราะดนตรีคลาสสิกมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กให้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จังหวะทำนอง และความกลมกลืนของเสียงดนตรีที่ถูกเรียบเรียงไว้อย่างเป็นลำดับขั้น จะช่วยจัดลำดับความคิดในสมองเด็กและช่วยให้เกิดการผ่อนคลายขณะรับฟังดนตรี การรับฟังดนตรีคลาสสิกเบาๆ ในจังหวะช้าๆ จะทำให้เด็กเกิดอารมณ์สุนทรีย์ ซึ่งความรู้สึกผ่อนคลายที่ได้รับจะช่วยให้เด็กเปิดรับการเรียนรู้ได้ดี และยังช่วยเสริมสร้างสมาธิจากการที่เด็กสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง จังหวะและท่วงทำนองที่คลาสสิกของดนตรี จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุมีผลในด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมและการอ่านเขียน

จังหวะเสียงสูงต่ำและความถี่ของเสียงดนตรีคลาสสิก ยังมีส่วนในการพัฒนาความสามารถด้านการเรียนภาษาได้ดีขึ้นได้ และบทประพันธ์ของดนตรีคลาสสิกบางชิ้นส่งผลด้านการพัฒนาสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ โดยเพิ่มขีดความสามารถด้านการใช้คำพูด อารมณ์และพัฒนาสมาธิและความจำ ในขณะที่เด็กเรียนรู้ทักษะบางอย่างขณะที่ฟังดนตรีคลาสสิกไปด้วย จะสามารถจดจำสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ได้ดี เข้าใจเหตุผลของความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ

ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า ความสบายใจที่ได้ฟังดนตรีในวัยเด็ก โดยเฉพาะดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ อย่างดนตรีคลาสสิกมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมด้านความสนใจ ความจำ ความฉลาด และการสร้างอารมณ์ที่ดี จากการฟังดนตรีดังกล่าว ยังช่วยให้ลูกเกิดการใช้สมองทุกส่วนพร้อมกันอีกด้วย

สุขภาพกายและจิตดีด้วยการฟังเพลงคลาสสิก

เสียงบทเพลงของดนตรีเป็นดังภาษาสากลที่คนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าใจในความไพเราะได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่เพียงสร้างความเพลิดเพลิน จรรโลงใจให้แก่ผู้รับฟังเท่านั้น แต่ประโยชน์ของดนตรีในทางการแพทย์สามารถนำมาใช้เพื่อการรักษาพัฒนาศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจของคนปกติและผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้

การใช้ดนตรีเพื่อบำบัดอาการป่วยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยผลวิจัยจากโรงพยาบาลชาลซ์บูร์ก ประเทศออสเตรีย พบว่า คนไข้หลังการผ่าตัดที่ได้ฟังดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีที่เขาชื่นชอบ สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรี โดยได้มีการทดลองเปิดดนตรีคลาสสิกให้กับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู สามารถลดการใช้ยานอนหลับได้เกินครึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการใช้ยานอนหลับเยอะๆ มีผลข้างเคียงกับคนไข้

เช่นเดียวกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องมีการปลูกถ่ายไขกระดูก มักจะมีความเสี่ยงสูง คนไข้เลยมีความกังวลมาก แต่พอเปิดเพลงให้คนไข้ฟังก็จะช่วยลดความกังวล และเพิ่มความสำเร็จในการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ ซึ่งการเลือกชนิดของดนตรีก็มีส่วนสำคัญในด้านการแพทย์และวัตถุประสงค์ในการใช้ หากคนไข้เครียด สับสน ควรใช้ท่วงทำนองเพลงสบายๆ เย็นๆ หวานๆ หรือต้องการจะใช้ในการปลุกคนไข้ให้ตื่นก็อาจจะเป็นเพลงร็อก จังหวะสนุก ทั้งนี้ความดังและชนิดของโทนเสียงดนตรีก็มีผลต่อการบำบัดที่แตกต่างกัน

การใช้ดนตรีบำบัดให้ได้ผล ผู้ฟังควรมีสมาธิเพื่อให้ประสาทหูและสมองได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ อุณหภูมิห้องที่เหมาะสมคือ 25 องศาเซลเซียส แสงในห้องต้องไม่จ้าเกินไป จังหวะเพลงที่เหมาะสม และฟังอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน พร้อมกับรักษาจิตใจควบคู่ไปด้วยจึงจะได้ผลดี

“ทางการแพทย์กายและใจสัมพันธ์กัน มิติหนึ่งของดนตรีที่ให้คือเรื่องของกำลังใจ ดนตรีสามารถพลิกผันคนในยามที่มีความมืดหม่น สามารถสร้างความเพลิดเพลิน ทำให้เกิดการฉุกคิดมองอะไรได้ชัดเจนขึ้น มีมุมมองที่สวยงามมากขึ้น ดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตใจมีความสุนทรีย์และมีความอ่อนโยน สร้างอารมณ์ความรู้สึกทางบวก ผ่อนคลายความตึงเครียดได้ รวมทั้งร้องเพลงยังช่วยกระตุ้นและพัฒนาสมองได้อีกด้วย ซึ่งในดนตรีไทยของเรามีความเหมาะสมอย่างมากในการใช้บำบัดจิตใจ ด้วยความซอฟต์ จังหวะนุ่มกว่าดนตรีฝรั่ง ทำให้การรับฟังดนตรีย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย”