สุขภาพกายและจิตดีด้วยการฟังเพลงคลาสสิก

เสียงบทเพลงของดนตรีเป็นดังภาษาสากลที่คนทุกเชื้อชาติสามารถเข้าใจในความไพเราะได้อย่างเสมอภาค ไม่ใช่เพียงสร้างความเพลิดเพลิน จรรโลงใจให้แก่ผู้รับฟังเท่านั้น แต่ประโยชน์ของดนตรีในทางการแพทย์สามารถนำมาใช้เพื่อการรักษาพัฒนาศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจของคนปกติและผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้

การใช้ดนตรีเพื่อบำบัดอาการป่วยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยผลวิจัยจากโรงพยาบาลชาลซ์บูร์ก ประเทศออสเตรีย พบว่า คนไข้หลังการผ่าตัดที่ได้ฟังดนตรีคลาสสิก หรือดนตรีที่เขาชื่นชอบ สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรี โดยได้มีการทดลองเปิดดนตรีคลาสสิกให้กับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู สามารถลดการใช้ยานอนหลับได้เกินครึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าการใช้ยานอนหลับเยอะๆ มีผลข้างเคียงกับคนไข้

เช่นเดียวกับคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องมีการปลูกถ่ายไขกระดูก มักจะมีความเสี่ยงสูง คนไข้เลยมีความกังวลมาก แต่พอเปิดเพลงให้คนไข้ฟังก็จะช่วยลดความกังวล และเพิ่มความสำเร็จในการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ ซึ่งการเลือกชนิดของดนตรีก็มีส่วนสำคัญในด้านการแพทย์และวัตถุประสงค์ในการใช้ หากคนไข้เครียด สับสน ควรใช้ท่วงทำนองเพลงสบายๆ เย็นๆ หวานๆ หรือต้องการจะใช้ในการปลุกคนไข้ให้ตื่นก็อาจจะเป็นเพลงร็อก จังหวะสนุก ทั้งนี้ความดังและชนิดของโทนเสียงดนตรีก็มีผลต่อการบำบัดที่แตกต่างกัน

การใช้ดนตรีบำบัดให้ได้ผล ผู้ฟังควรมีสมาธิเพื่อให้ประสาทหูและสมองได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ อุณหภูมิห้องที่เหมาะสมคือ 25 องศาเซลเซียส แสงในห้องต้องไม่จ้าเกินไป จังหวะเพลงที่เหมาะสม และฟังอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน พร้อมกับรักษาจิตใจควบคู่ไปด้วยจึงจะได้ผลดี

“ทางการแพทย์กายและใจสัมพันธ์กัน มิติหนึ่งของดนตรีที่ให้คือเรื่องของกำลังใจ ดนตรีสามารถพลิกผันคนในยามที่มีความมืดหม่น สามารถสร้างความเพลิดเพลิน ทำให้เกิดการฉุกคิดมองอะไรได้ชัดเจนขึ้น มีมุมมองที่สวยงามมากขึ้น ดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้จิตใจมีความสุนทรีย์และมีความอ่อนโยน สร้างอารมณ์ความรู้สึกทางบวก ผ่อนคลายความตึงเครียดได้ รวมทั้งร้องเพลงยังช่วยกระตุ้นและพัฒนาสมองได้อีกด้วย ซึ่งในดนตรีไทยของเรามีความเหมาะสมอย่างมากในการใช้บำบัดจิตใจ ด้วยความซอฟต์ จังหวะนุ่มกว่าดนตรีฝรั่ง ทำให้การรับฟังดนตรีย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย”